วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความประทับใจต่อหลักสูตรการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม ของ คุณมีนา พิทยโสภณกิจ

นางมีนา พิทยโสภณกิจ
รหัส ๕๒๑๔๗๗๐๒๓๓
เลขาธิการ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
รองประธาน มูลนิธิสถาบันพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ





เมื่อเห็นแผ่นพับเอกสารแนะนำหลักสูตรการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม ตัดสินใจได้ในเวลารวดเร็วว่า “ใช่เลย” จึงชวนลูกสาวมาเรียนด้วยกัน

จากประสบการณ์ทำงานกว่า 27 ปีที่ผ่านมาในด้านสิ่งแวดล้อม พบความเติบโตและอิทธิพลในมิติสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาที่พบ คือ ความไว้ใจ (trust) ของคนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด การยอมรับกันทางวิชาการก็ลดน้อยลงจนน่าใจหาย กฎหมายหรือกฎข้อบังคับต่างๆมีอย่างมากมายและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมีมากกว่า 60 ฉบับ กฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องไม่ง่ายอย่างที่คิด ถ้าอย่างนั้น เราจะทำให้มันดีขึ้นได้ไหม ? ทางออกที่น่าจะใช่ ก็คือ “การตรวจสอบ” แต่ต้องอย่าลืมว่า การตรวจสอบไม่ใช่การจับผิด แต่ควรเป็นเครื่องมือการจัดการที่เป็นกระบวนการโดยจะทำอย่างไรให้ความเสียหาย/ปัญหาสามารถป้องกันล่วงหน้า (Precaution Principles)ตลอดเวลาที่ดิฉันทำงานในเชิงป้องกันทางสิ่งแวดล้อมโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า EIA อีกทั้งเป็นวิทยากร หลักสูตร “การป้องกันมลพิษ (Pollution Prevention)” ของ U.S. EPA ( United States Environmental Protection Agency : องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา ) ที่มาอบรมและสร้างวิทยากรในประเทศไทย ดิฉันได้ทำการอบรมมามากกว่า 24 รุ่นแล้ว

ดิฉันเชื่อว่าในยุคนี้วิศวกร/นักวิชาการอยากรู้เรื่องกฎหมายเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าให้เราไปเรียนกฎหมายโดยตรงก็คงยากมาก หลักสูตรนี้น่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติวิชาชีพไม่ถูกฟ้องหรือพลาดทางข้อกฎหมาย เพราะพวกเราเรียนรู้ที่จะระวังและรอบคอบ

ข้อเด่นอีกข้อที่ดิฉันพึงพอใจ คือ หลักสูตรนี้เรียนอาทิตย์ละ 1 วัน Work มาก ( ดิฉันต้องมาเรียนให้ได้ จะไม่ยอมขาดเรียนเป็นอันขาด ) เตือนตัวเองเสมอว่า ยุ่งแค่ไหนก็ต้องจัดเวลาให้วันเสาร์

รุ่นแรกมีเพื่อนร่วมรุ่น 48 คน มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ โชคดีที่ตัดสินใจเลือกประธานรุ่นได้ถูกคน ยกความดีให้ประธานที่เน้นการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การทำงานเป็นทีม เราต่างก็ไม่หวงวิชา ซึ่งพวกเราคิดว่าเราเรียนด้วยกัน เราก็จะจบพร้อม ๆ กัน

ปีแรกที่เราเรียน รายงานเยอะมาก ๆ จนเกือบจะเสียหลัก โชคดีที่ได้ทีมงานที่ ทำงานเป็นทีมและช่วยกันคนละไม้คนละมือ งานต่าง ๆ จึงสำเร็จลุล่วงได้ แต่แอบเป็นห่วงรุ่นน้องไม่ได้ หวังว่าอาจารย์จะให้รายงานน้อยลง
อยากเห็นอะไรหลังสำเร็จหลักสูตร




ให้นักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรมีเครือข่ายกันและสามารถขอความเห็น ความรู้ทางวิชาการ/การแก้ปัญหาได้ โดยสามารถสอบถามจากอาจารย์ได้ ซึ่งหลายท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มากล้นด้วยประสบการณ์ ถ้าเป็นเครือข่ายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยจะเป็นเรื่องที่ดีจริง ๆ โดยกิจกรรมที่มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น
- การดูงาน
- การจัดกิจกรรมวิชาการ หรือจัดโต๊ะกลม ประชุมวิชาการเป็นระยะเพื่อเพิ่มพูนความรู้และเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เน้นการประยุกต์ใช้งานจริง มาต่อยอดปัญญาของพวกเราเป็นระยะ

อาจารย์ที่สอนหลักสูตรนี้เยี่ยมมาก ดิฉันชอบหลักคิดที่ท่านคณบดี ( ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรานนท์ คงสง ) เริ่มปูพื้นให้เรียน Organization Development ซึ่งมีหลักคิดที่เน้นการจัดการองค์การ เน้นที่ตัวบุคคลซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหรือแย่ลงได้