วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

การตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม ๒

ผศ.ดร.วรานนท์ คงสง ผศ.ดร.เสรีย์ ตู้ประกาย ผศ.ดร.กฤษดา พิศลยบุตร
โครงการการศึกษาภาคพิเศษระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


คำว่า “การตรวจสอบ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีหมายความโดยแบ่งคำเป็น “ตรวจ” หมายความว่า พิจารณาดูความเรียบร้อย เช่น ตรวจพล ตรวจราชการ พิจารณาดูว่าถูกหรือผิด ดีหรือร้าย เป็นต้น เช่น ตรวจบัญชี ตรวจแบบฝึกหัด ตรวจดวงชะตา พิจารณาหาสมุฏฐาน เช่น ตรวจโรค สํารวจ ตรวจพื้นที่ และ “สอบ” หมายความว่า ตรวจ ทดลอง เปรียบเทียบ เพื่อหาข้อเท็จจริงหรือ วัดให้รู้ว่ามีความรู้หรือความสามารถแค่ไหน เช่น สอบตาชั่งให้ได้มาตรฐาน สอบราคาสินค้า สอบปากคำผู้ต้องหา สอบพิมพ์ดีด
ความหมายของคำว่า “การตรวจสอบ” ในงานทางวิศวกรรมนั้นถูกกำหนดโดย กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ อาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “วิชาชีพวิศวกรรม” และ “วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” ในมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อที่ ๓ งานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละสาขา วงเล็บห้า ให้งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูล และสถิติต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ หรือประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงาน หรือในการสอบทาน [๑]
ตัวอย่างของงานพิจารณาตรวจสอบความเสียหายและให้คำแนะนำแก้ไขอาคารทาวเฮาส์ ๓ ชั้น ซึ่งเกิดการทรุดตัวและแตกร้าว โดยวิศวกรโยธามีใบอนุญาตระดับวุฒิวิศวกร ได้ทำการสำรวจอาคารทาวเฮาส์ อาคารข้างเคียงและสภาพโดยรอบ พิจารณาตรวจสอบสภาพชั้นดินและข้อมูลการออกแบบเดิมที่ใช้ค่าส่วนความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานออกแบบ โดยทำการพิจารณานำข้อมูลข้างต้น สรุปความเสียหายของอาคารว่าเกิดความเสียหายจากเหตุใด วิศวกรผู้รับจ้างต้องดำเนินการในงานที่ได้รับว่าจ้างมา โดยทำอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการ ของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม [๒]
พระราชบัญญัติวิศวกร ๒๕๔๒ มาตรา ๔ “วิชาชีพวิศวกรรม” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ และ สาขาวิศวกรรมอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง “วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมที่กำหนดใน กฎกระทรวง “ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกร กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้งานที่ต้องควบคุมของแต่ละสาขาวิชาชีพ เช่น ตามข้อที่ ๕ ประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธามี ๒๑ ประเภท เป็นต้น
ส่วนการตรวจสอบในงานวิศวกรรมในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๓ จะเป็นการตรวจสอบที่ควบคุมอาคารเท่านั้น โดยกำหนดให้ผู้ตรวจสอบผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ให้อำนาจขอบข่ายงานในการตรวจตราเบื้องต้นในการควบคุมอาคารตามกฎหมายกำหนดไว้ โดย “ผู้ตรวจสอบ” ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๓ หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณีซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้” งานตรวจสอบอาคาร จึงเป็นงานตรวจสอบอาคารตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.๒๕๔๘" ซึ่งมีลักษณะต่างกับงานพิจารณาตรวจสอบตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒
ภาพที่ ๑ ภาพความสยดสยองของเหตุการณ์โรงแรมรอยัล พลาซ่า ใจกลางเมืองโคราช ถล่มทับพนักงานโรงแรม และแขกที่เข้าพักจนเสียชีวิตนับร้อยคน เมื่อปี 2536 [๔]

การออกกฎหมายผู้ตรวจสอบอาคารออกมานั้นอันเนื่องมาจาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอาคารวิบัติเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้นว่า โรงแรมโรยัล พลาซ่า จังหวัดนครราชสีมา โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม โรงแรมรอยัลจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่พัง เครื่องเล่นไฟฟ้าในสวนสนุกไฟไหม้ เป็นต้น จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ เป็น ฉบับที่ ๓ ให้มีการตรวจสอบสภาพอาคาร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ [๓]
ขอบเขตของการตรวจสอบอาคารนั้น ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกต ทำรายงาน วิเคราะห์ ความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร และระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย เพื่อลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้สอยอาคารในฐานะผู้ตรวจสอบวิชาชีพที่มีความรู้ ซึ่งได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ตามหลักวิชาชีพ และตามมาตรฐานการตรวจสอบสภาพอาคารและโรงงานอุตสาหกรรมในด้านความปลอดภัยของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สถานที่ วัน และเวลาที่ทำการตรวจสอบตามที่ระบุในรายงานเท่านั้น[๔]
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เล็งเห็นความสำคัญว่าต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ การสร้างนวัตกรรมของหลักสูตรใหม่ที่มีการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาชีพทางวิศวกรรมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางวิศวกรรม แบบ “สหวิทยาการ (Interdisciplinary) พหุวิทยาการ (Multidisciplinary) และบูรณาการ (Integration)” ให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจ ความชำนาญการเฉพาะด้าน วิศวกรจะได้ปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานได้มาตรฐาน และเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เกิดความปลอดภัยกับวิศวกร ทำให้วิศวกรมีคุณภาพ ทั้งพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพให้มีความรู้ความสามารถระดับสูงในสาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม เพื่อสามารถบุกเบิกแสวงหาความรู้ใหม่ได้อย่างมีอิสระ รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปใช้ประกอบวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้จัดทำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม โดยหลักสูตรได้ผ่านสภามหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และดำเนินการรับนักศึกษาเข้าศึกษาได้ในปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๒ จำนวน ๕๐ คน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์ทุกสาขา (วศ.บ.) กรณีสำเร็จสาขาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตรบัณฑิต เทคโนโลยีบัณฑิต ครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต เป็นต้น ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ หมวด ๒ ข้อ ๑๓ และข้อกำหนดของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำคณะ ฯ (การรับสมัครเข้าศึกษาดำเนินการในช่วงประมาณเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ๒๕๕๒) โดยสามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผศ.ดร.เสรีย์ ตู้ประกาย และผศ.ดร.กฤษดา พิศลยบุตร โครงการการศึกษาภาคพิเศษระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถนนรามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพ ฯ ๑๐๒๔๐ สำนักงานเลขานุการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตึกลายสือไท ชั้น ๒ E-mail : seree.t@gmail.com bkrisda@msn.com โทร ๐๘๖-๓๓๖-๔๗๑๖ และ ๐๘๑-๔๕๘-๔๑๕๙

เอกสารอ้างอิง
[๑] ประสงค์ ธาราไชย ๒๕๔๙ “ประสบการณ์งานช่าง : การตรวจสอบสภาพอาคาร (๑)” Engineering Today ฉบับที่ ๔๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ หน้า ๑๐๕
[๒] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ ๑๑/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ข้อมูลจากhttp://www.coe.or.th/co15law/codeofconduct/case2-7.php ค้นวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
[๓] ประสงค์ ธาราไชย ๒๕๕๐ “การตรวจสอบสภาพอาคาร (๓): จรรยาบรรณผู้ตรวจสอบอาคาร” วิศวกรรมสาร ปีที่ ๖๐ ฉบับที่ ๒ เดือนมีนาคม -เมษายน หน้า ๙๖
[๔] พิชญะ จันทรานุวัฒน์ ๒๕๔๙ “แนวทางการตรวจสอบอาคาร ตามกฎหมายการตรวจสอบอาคาร” วิศวกรรมสาร ปีที่ ๕๙ ฉบับที่ ๒ เดือน มีนาคม-เมษายน หน้า ๘๖-๙๓
[๕] จิรยุทธ ปรีชัย ๒๕๓๖ “ถล่มสยอง! รอยัลพลาซ่า น้ำตา-หายนะ...สังเวยโลภ” คม-ชัด-ลึก เจาะข่าวทั่วไทย ค้นเมื่อ วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ จาก http://www.komchadluek.net/column/scoop/2004/01/hotel.php

1 ความคิดเห็น: