วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

การตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม (Inspection and Engineering Law)



การตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม (Inspection and Engineering Law)




เสรีย์ ตู้ประกาย ๑ วรานนท์ คงสง ๑ กฤษดา พิศลยบุตร ๑ และสิรวัลภ์ เรืองช่วย ตู้ประกาย ๒
๑โครงการการศึกษาภาคพิเศษระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อาคารลายสือไท ถ.รามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพ ฯ ๑๐๒๔๐ โทรศัพท์: ๐๒-๓๑๐-๘๕๗๐-๑ Email: seree@eng.ru.ac.th
๒โปรแกรมวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
ศูนย์เครื่องมือปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ถ.สิริธร บางพลัด กรุงเทพ ฯ ๑๐๗๐๐ โทรศัพท์: ๐๒-๔๒๓-๙๔๔๖ Email: sirawanr@gmail.com









บทคัดย่อ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เล็งเห็นความสำคัญว่าต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ การสร้างนวัตกรรมของหลักสูตรใหม่ที่มีการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาชีพทางวิศวกรรมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางวิศวกรรม แบบบูรณาการ (Integration) ให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจ ความชำนาญการเฉพาะด้าน วิศวกรจะได้ปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานได้มาตรฐาน และเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เกิดความปลอดภัยกับวิศวกร ทำให้วิศวกรมีคุณภาพ ทั้งพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพให้มีความรู้ความสามารถระดับสูงในสาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม เพื่อสามารถบุกเบิกแสวงหาความรู้ใหม่ได้อย่างมีอิสระ รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปใช้ประกอบวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป จากการสำรวจข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามทั้งหมด ๒๘๕ ชุด เพื่อการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรมพบว่า มีผู้สนใจเข้าศึกษาสาขาวิชานี้ ถึงร้อยละ ๙๘ คณะ ฯ ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร ฯ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช ๒๕๔๘ โดยหลักสูตรผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาผ่านการพิจารณารับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตร ฯ แบ่งเป็น ๓ แผน คือ แผน ก(๑) แผน ก(๒) และแผน ข หน่วยกิตทั้งหมดที่ต้องศึกษาเป็นจำนวน ๔๕ หน่วยกิต (ไม่นับหน่วยกิต ๙ หน่วยกิต นับหน่วยกิต ๓๖ หน่วยกิต)

คำสำคัญ : การตรวจสอบ กฎหมายวิศวกรรม วิชาชีพวิศวกรรม


Abstract
The integration of engineering education and other education fields are essential in the development of innovative engineering education. The incorporation of knowledge will contribution to better understanding and specialize of engineers whose work can comply with law and regulation. The engineering works will also meet higher standards and safety. The proposed Engineering graduate degree program creates quality engineers and professional practitioners who is capable of higher engineering education and specialize in engineering law and in inspection. They can disclose freely into the new knowledge area and practice quality engineering work. The survey showed that 98 percent of the repnsdents among 285 survey sent intend to study in this program. The development of this program was under the reguataltion by ministry of education. The experts in engineering and law evaluate and comment on the program. The Ramkhamhaeng university cousil approved the the program with higher education committee acknowledgement.

Keywords: Inspection, Engineering Law, Engineering Profession

๑. บทนำ
คำว่า “การตรวจสอบ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีหมายความโดยแบ่งคำเป็น “ตรวจ” หมายความว่า พิจารณาดูความเรียบร้อย เช่น ตรวจพล ตรวจราชการ พิจารณาดูว่าถูกหรือผิด ดีหรือร้าย เป็นต้น เช่น ตรวจบัญชี ตรวจแบบฝึกหัด ตรวจดวงชะตา พิจารณาหาสมุฏฐาน เช่น ตรวจโรค สํารวจ ตรวจพื้นที่ ส่วนคำว่า “สอบ” หมายความว่า ตรวจ ทดลอง เปรียบเทียบ เพื่อหาข้อเท็จจริงหรือ วัดให้รู้ว่ามีความรู้หรือความสามารถแค่ไหน เช่น สอบตาชั่งให้ได้มาตรฐาน สอบราคาสินค้า สอบปากคำผู้ต้องหา สอบพิมพ์ดีด
สำหรับคำว่า “การตรวจสอบ” ในงานทางวิศวกรรมนั้นถูกกำหนดโดย กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ อาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “วิชาชีพวิศวกรรม” และ “วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” ในมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อที่ ๓ งานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละสาขา วงเล็บห้า ให้งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูล และสถิติต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ หรือประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงาน หรือในการสอบทาน [๑]
ตัวอย่างของงานทางด้านวิศวกรรม ในเรื่องการพิจารณาตรวจสอบความเสียหาย ได้แก่ การให้คำแนะนำแก้ไขอาคารทาวเฮาส์ ๓ ชั้น ซึ่งเกิดการทรุดตัวและแตกร้าว โดยวิศวกรโยธามีใบอนุญาตระดับวุฒิวิศวกร ได้ทำการสำรวจอาคารทาวเฮาส์ อาคารข้างเคียงและสภาพโดยรอบ พิจารณาตรวจสอบสภาพชั้นดินและข้อมูลการออกแบบเดิมที่ใช้ค่าส่วนความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานออกแบบ โดยทำการพิจารณานำข้อมูลข้างต้น สรุปความเสียหายของอาคารว่าเกิดความเสียหายจากเหตุใด วิศวกรผู้รับจ้างต้องดำเนินการในงานที่ได้รับว่าจ้างมา โดยทำอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการ ของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม [๒]
พระราชบัญญัติวิศวกร ๒๕๔๒ มาตรา ๔ “วิชาชีพวิศวกรรม” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ และ สาขาวิศวกรรมอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง
“วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” หมายความว่า วิชาชีพวิศวกรรมที่กำหนดใน กฎกระทรวง
“ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกร กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้งานที่ต้องควบคุมของแต่ละสาขาวิชาชีพ เช่น ตามข้อที่ ๕ ประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธามี ๒๑ ประเภท เป็นต้น
ส่วนการตรวจสอบในงานวิศวกรรมในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๓ จะเป็นการตรวจสอบที่ควบคุมอาคารเท่านั้น โดยกำหนดให้ผู้ตรวจสอบผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ให้อำนาจขอบข่ายงานในการตรวจตราเบื้องต้นในการควบคุมอาคารตามกฎหมายกำหนดไว้ โดย “ผู้ตรวจสอบ” ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๓ หมายความว่า “ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณีซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้”
งานตรวจสอบอาคาร จึงเป็นงานตรวจสอบอาคารตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.๒๕๔๘" ซึ่งมีลักษณะต่างกับงานพิจารณาตรวจสอบตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒
การออกกฎหมายผู้ตรวจสอบอาคารออกมานั้นอันเนื่องมาจาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอาคารวิบัติเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้นว่า โรงแรมรอยัล พลาซ่า จังหวัดนครราชสีมา ดังแสดงในรูปที่ ๑ โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม โรงแรมรอยัลจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่พัง เครื่องเล่นไฟฟ้าในสวนสนุกไฟไหม้ เป็นต้น จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ เป็น ฉบับที่ ๓ ให้มีการตรวจสอบสภาพอาคาร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ [๓]
ขอบเขตของการตรวจสอบอาคารนั้น ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกต ทำรายงาน วิเคราะห์ ความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร และระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย เพื่อลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้สอยอาคารในฐานะผู้ตรวจสอบวิชาชีพที่มีความรู้ ซึ่งได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ตามหลักวิชาชีพ และตามมาตรฐานการตรวจสอบสภาพอาคารและโรงงานอุตสาหกรรมในด้านความปลอดภัยของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สถานที่ วัน และเวลาที่ทำการตรวจสอบตามที่ระบุในรายงานเท่านั้น [๔]

๒. ความสำคัญของการตรวจสอบในงานทางวิศวกรรม
จากบทเรียน ๓ โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ มีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในครั้งนั้นมีคนตายไป ๑๕๐ กว่าคน และในปีเดียวกันนั้นเอง โรงแรมรอยัลพลาซ่า ที่จังหวัดนครราชสีมา อยู่ดี ๆ พังทลายลงมา ครั้งนั้นมีคนตายไปเกือบ ๒๐๐ คน และผ่านไปประมาณ ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โรงแรมรอยัล จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี เกิดเหตุเพลิงไหม้ มีคนตาย ๑๐๐ คนเศษ และล่าสุดในคืนวันสิ้นปีรอยต่อปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๒ พับดังย่านสุขุมวิท เกิดเพลิงใหม่ทำให้คนตามไป ๖๔ คน ถัดมาอีกไม่กี่วันที่ตึกเสือป่าพลาซ่าเกิดเหตุไหม้อีก ดังแสดงในรูปที่ ๒ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑ คน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ล้วนแต่ ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้อาคารแล้ว อาคารดังกล่าว ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้าง จากวิศวกร หลังจากก่อสร้างเสร็จ มีการใช้อาคาร จากการตรวจสอบและวินิจฉัยความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ระบบต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของอาคารไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบไฟฟ้า อื่น ๆ อีกหลายระบบ

รูปที่ ๑ โรงแรมรอยัล พลาซ่า โคราช ถล่มทับพนักงานโรงแรม และแขกที่เข้าพักจนเสียชีวิตนับร้อยคน เมื่อปี ๒๕๓๖ [๕]



รูปที่ ๒ เพลิงไหม้เสือป่า พลาซ่า

เมื่อมีการใช้งานไปนาน ๆ ประสิทธิภาพ ก็ถดถอยลง เหมือนรถยนต์ ใช้ไปก็ต้องบำรุงรักษา อาคารก็เช่นเดียวกัน เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ก็ต้องมีการซ่อมบำรุงให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางการตรวจสอบมาจากหลักการใหญ่ ๆ ทั้ง ๔ หลักการนี้คือ

๒.๑. หลักการป้องกัน
ความมั่นใจทางด้านความปลอดภัย ลดระดับอัตราความเสี่ยงลงเพราะอาคารนั้นได้ผ่านการตรวจสอบทางด้านความปลอดภัยแล้ว อัคคีภัย และภัยธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดคำว่าวัวหายล้อมคอก เช่น อาคารมีโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ภายในอาคารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน เช่น ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ระบบไฟฟ้า ระบบลิฟต์ ฯลฯ ซึ่งระบบต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อมีการใช้งานไประยะหนึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษา เพื่อให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา ซึ่งในการใช้อาคารอย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว แม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องทำการตรวจสอบสภาพอาคารและบำรุงรักษา แต่ก็เป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารควรจะดำเนินการอยู่แล้ว

๒.๒. หลักทางเศรษฐศาสตร์
การตรวจสอบในงานวิศวกรรมเป็นการเพิ่มมูลค่า เช่น อาคาร เนื่องจากอาคารได้ใช้งานมาระยะเวลาหนึ่ง เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ประกอบของอาคารเกิดเสื่อมลง การตรวจสอบอาคารเป็นการปรับปรุงเพื่อให้เพิ่มมูลค่าของอาคารขึ้น

๒.๓. หลักการตัดสินใจ
อาคารที่ได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงแล้ว ทำให้เจ้าของอาคารสามารถตัดสินใจสำหรับการใช้อาคารต่อไปในอนาคตได้ ทำให้อาคารมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

๒.๔. หลักสิทธิ
“สิทธิ” ก็คือ ประโยชน์ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยกฎหมาย หรือประโยชน์ที่กฎหมายคุ้มครองให้ หรือ อำนาจที่กฎหมายให้แก่บุคคลในอันที่จะมีเจตจำนง” ดังนั้นผู้อยู่ผู้ใช้อาคารได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้อยู่อาศัย หรือใช้อาคารที่ปลอดภัย ต่อชีวิต และทรัพย์สิน ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

๓. หลักสูตรการเรียนการสอน
การพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ การสร้างนวัตกรรมของหลักสูตรใหม่ที่มีการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาชีพทางวิศวกรรมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางวิศวกรรม แบบ “สหวิทยาการ (Interdisciplinary) พหุวิทยาการ (Multidisciplinary) และบูรณาการ (Integration)” ให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจ ความชำนาญการเฉพาะด้าน วิศวกรจะได้ปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานได้มาตรฐาน และเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เกิดความปลอดภัยกับวิศวกร ทำให้วิศวกรมีคุณภาพ ทั้งพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพให้มีความรู้ความสามารถระดับสูงในสาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม เพื่อสามารถบุกเบิกแสวงหาความรู้ใหม่ได้อย่างมีอิสระ รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปใช้ประกอบวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป

๓.๑. แนวทางการพัฒนาหลักสูตร ฯ
การดำเนินการในการพัฒนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม โดยทำการ สำรวจบทความ งานวิจัย กฎระเบียบ เป็นต้น ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำการสำรวจความคิดเห็น ระดมความคิดจากกลุ่มเป้าหมาย (Focus group) วิพากษ์หลักสูตร โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องมาเสนอความคิดเห็น นำข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาประมวลเป็นข้อมูลรวม ทำการสังเคราะห์หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม ดังแสดงในรูปที่ ๓ ใช้หลักการบูรณาการ (Integration) โดยมีความหมายดังนี้
“ บูรณาการ” หมายถึง การนำเอาศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกัน มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการจัดหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน

รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ประชุมกรรมการ ร่างหลักสูตร ฯ
ครั้งที่ ๑
เสนอหลักสูตรตามขั้นตอน
อนุมัติโดยสภามหาวิทยาลัย
สำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม
ระดมความคิดจากกลุ่มเป้าหมาย
วิพากษ์หลักสูตร
ประชุมกรรมการ ร่างหลักสูตร ฯ
ครั้งที่ ๒
หลักสูตร วศ.ม. (สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม)
รูปที่ ๓ ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร [๖]

“หลักสูตรบูรณาการ” (Integrated Curriculum) คือ หลักสูตรที่นำเอาเนื้อหาวิชาต่างๆมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน ทำให้เอกลักษณ์ของแต่ละรายวิชาหมดไป เกิดเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของหลักสูตร
ประเภทของการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนสามารถแบ่งได้ ๒ แบบ คือ
(๑) แบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) เป็นการสร้างหัวเรื่อง (Theme) ขึ้นมาแล้วนำเนื้อหาจากวิชาต่าง ๆ มาโยงความสัมพันธ์กับหัวเรื่องนั้น บางครั้งเราอาจจะเรียกวิธีบูรณาการแบบนี้ได้ว่า สหวิทยาการ แบบมีหัวข้อ หรือบูรณาการที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลัก
(๒) แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) เป็นการนำเรื่องที่ต้องการจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปสอดแทรก (Infusion) ไว้ในวิชาต่างๆซึ่งบางครั้งเราอาจจะเรียกวิธีบูรณาการแบบนี้ได้ว่า การบูรณาการที่เน้นเนื้อหารายวิชาเป็นหลัก

๓.๒. ผลการสำรวจความต้องการศึกษาหลักสูตร ฯ
ผู้ให้ข้อมูลเป็นเพศชาย ร้อยละ ๑๙.๓ เป็นเพศหญิง ร้อยละ ๘๐.๗ ดังแสดงในรูปที่ ๔

ระดับการศึกษามีระดับต่ำกว่า ป.ตรีร้อยละ ๑๒.๙๘ ระดับป.ตรี ร้อยละ ๖๗.๐๒ ระดับ ป.โท ร้อยละ๑๗.๑๙ และระดับอื่น ๆ ๑.๔๐ ดังแสดงในรูปที่ ๕

รูปที่ ๔ ข้อมูลเพศ

รูปที่ ๕ ข้อมูลระดับการศึกษา

ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ ๙๒.๒๘ เห็นด้วยกับการเปิดหลักสูตรสาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม ในระดับปริญญาโท ร้อยละ ๕.๒๖ เสนอให้จัดการศึกษาในลักษณะอื่น ๆ เมื่อรวมกลุ่มประชากรที่เห็นด้วย กับจัดในลักษณะอื่น ๆ เท่ากับร้อยละ ๙๗.๕๔ ร้อยละ ๒.๔๖ ไม่เห็นด้วย ดังแสดงในรูปที่ ๖
ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นประชากรที่มีคุณวุฒิด้านวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) และเทคโนโลยี จำนวน ๑๒๓ ท่าน จากการสำรวจพบว่ามีผู้สนใจเข้าศึกษาสาขานี้คิดเป็นร้อยละ ๙๘ ดังแสดงในรูปที่ ๗
รูปที่ ๖ ความเห็นการจัดการศึกษา


รูปที่ ๗ ความสนใจเข้าศึกษา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดทำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม โดยหลักสูตรได้ผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาผ่านการพิจารณารับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตร ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และดำเนินการรับนักศึกษาเข้าศึกษาได้ในปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๒ จำนวนประมาณ ๕๐ คน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.บ.) ทุกสาขา และกรณีสำเร็จสาขาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตรบัณฑิต เทคโนโลยีบัณฑิต ครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต เป็นต้น ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ หมวด ๒ ข้อ ๑๓ และข้อกำหนดของคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำคณะ ฯ (การรับสมัครเข้าศึกษาดำเนินการในช่วงประมาณเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ๒๕๕๒) เรี่มเปิดการศึกษาเดือนมิถุนายน

๓. สรุป
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช ๒๕๔๘ ที่มีการบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาชีพทางวิศวกรรมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานทางวิศวกรรม แบบบูรณาการ (Integration) แบ่งเป็น ๓ แผน คือ แผน ก(๑) แผน ก(๒) และแผน ข หน่วยกิตทั้งหมดที่ต้องศึกษาเป็นจำนวน ๔๕ หน่วยกิต (ไม่นับหน่วยกิต ๙ หน่วยกิต นับหน่วย ๓๖ หน่วยกิต)





๔. กิตติกรรมประกาศ
งานสำรวจข้อมูลความต้องการศึกษาในหลักสูตร และการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะผู้เขียนบทความขอขอบคุณ คณะกรรมการร่างหลักสูตร ฯ ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน และเพื่อนอาจารย์ทุกท่าน สำหรับข้อคิดเห็น เสนอแนะ ขอขอบพระคุณผู้ตอบแบบสอบถามทุกท่าน เจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง

เอกสารอ้างอิง
[๑] ประสงค์ ธาราไชย ๒๕๔๙ “ประสบการณ์งานช่าง : การตรวจสอบสภาพอาคาร (๑)” Engineering Today ฉบับที่ ๔๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ หน้า ๑๐๕
[๒] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ ๑๑/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ข้อมูลจากhttp://www.coe.or.th/co15law/codeofconduct/case2-7.php ค้นวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
[๓] ประสงค์ ธาราไชย ๒๕๕๐ “การตรวจสอบสภาพอาคาร (๓): จรรยาบรรณผู้ตรวจสอบอาคาร” วิศวกรรมสาร ปีที่ ๖๐ ฉบับที่ ๒ เดือนมีนาคม -เมษายน หน้า ๙๖
[๔] พิชญะ จันทรานุวัฒน์ ๒๕๔๙ “แนวทางการตรวจสอบอาคาร ตามกฎหมายการตรวจสอบอาคาร” วิศวกรรมสาร ปีที่ ๕๙ ฉบับที่ ๒ เดือน มีนาคม-เมษายน หน้า ๘๖-๙๓
[๕] จิรยุทธ ปรีชัย ๒๕๓๖ “ถล่มสยอง! รอยัลพลาซ่า น้ำตา-หายนะ...สังเวยโลภ” คม-ชัด-ลึก เจาะข่าวทั่วไทย ค้นเมื่อ วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ จาก http://www.komchadluek.net/column/scoop/2004/01/hotel.php
[๖] วรานนท์ คงสง และ เสรีย์ ตู้ประกาย ๒๕๕๑ “การพัฒนางานวิศวกรรมเชิงบูรณาการและการพัฒนาแบบพอเพียง” การสัมมนาทางวิชาการวิศวศึกษา ครั้งที่ ๖ สมัยที่ ๓๐, ๘ – ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี, หน้า ๑๐๑ – ๑๐๕.


นายเสรีย์ ตู้ประกาย วศ.ด. (วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


นายวรานนท์ คงสง วศ.ม. (วิศวกรรมโยธา) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


นายกฤษดา พิศลยบุตร ปร.ด. (วิศวกรรมอุตสาหการ) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


นางสาวสิรวัลภ์ เรืองช่วย ตู้ประกาย Ph.D. (Environmental and Hazardous Waste Management) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น